อัลมัรฮูมอับดุลอาซิซ บิน ซะนิก อับดุลวาฮับ (มีชีวิตระหว่าง พ.ศ.2440-2517, ค.ศ. 1897-1974) เกิดที่บ้านกาเดาะ อ.หนองจิก ศึกษาศาสนาที่ปอเนาะบานา (โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ อ.เมืองปัตตานี ในปัจจุบัน)
มีภรรยา 2 คน ภรรยาคนแรกคือนางคอดิเญาะห์ มีลูกที่เกิดจากนางคอดีเญาะห์ 5 คน คือ
1. ฮุเซ็น เสียชีวิตในวัยหนุ่ม ขณะศึกษาอยู่ที่นครมักกะห์
2. มัรยัม ภรรยาของหะยีอุมัร หะยีอาแว
3. รอมละห์ ภรรยาของแวยูโซฟ แวมูซอ โต๊ะครูปอเนาะบานา (โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ อ.เมืองปัตตานี)
4. อาอิเซาะห์ ภรรยาของครูยูโซ๊ป หะยีอิบรอหีมผู้ก่อตั้งปอเนาะบ้านโฮ๊ะ (โรงเรียนพัฒนาการศึกษา อำเภอหาดใหญ่)
5. อับดุลวาฮับ อับดุลวาฮับ โต๊ะครูและผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถานคนปัจจุบัน

ภรรยาคนที่สองชื่อนางซีตีรอกีเยาะ มีลูกที่เกิดกับนางซีตีรอกีเยาะ 6 คน คือ
1. ชาลี(เปาะจิฆอซาลี) อับดุลวาฮับ อดีตครูใหญ่โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน
2. นางสุริยา เจ๊ะเต๊ะ ภรรยาฮัจยีหามัด บิน อับดุลมะญีด ผู้ก่อตั้งปอเนาะมายิดดีสถาน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย
3. ยามารูดิง อับดุลวาฮับ
4. บือราเฮง อับดุลวาฮับ (เปาะมูดอ)
5. ปาอีซะห์ ภรรยานายอับดุลเลาะห์ ดือราแม
6. ซุลกิฟลี อับดุลวาฮับ

คอดีเญาะห์ ภรรยาคนแรก เป็นบุตรสาวของฮัจยีอับดุรรอชีด ผู้ก่อตั้งปอเนาะบานา ที่เกิดกับนางฟาติเมาะห์ บุตรสาวของต่วนมินาล อุละมาอฺที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของปาตานี จะเห็นว่าปอเนาะอาซิซสถานมีความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติอย่างลึกซึ้งกับปอเนาะบานา โต๊ะครูอับดุลรอชีดมีลูก 3 คน โดยลูกสาวคนที่สองคือคอดีเญาะห์ได้แต่งงานกับโต๊ะครูอับดุลอาซิซ ลูกสาวคนแรกชื่อซีตีฮาวา แต่งงานกับอัจยีมุสตอฟา แวมูซอ ได้ลูกชายชื่อแวยูโซฟ แวมูซอ ซึ่งต่อมาได้เป็นเขยของโต๊ะครูอับดุลอาซิซ (แต่งงานกับรอมละห์ ลูกสาวคนที่สองของอับดุลอาซิซ) และเป็นโต๊ะครูปอเนาะบานารุ่นต่อมา ลูกคนที่สามชื่อปะจูมะ ได้อพยพไปตั้งรกรากที่นครมักกะห์

ต่วนมินาลหรือชัยค์ซัยนุลอาบิดีน อุละมาอฺที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของปาตานี มีชีวิตในช่วงปี ค.ศ. 1820-1913 เดิมเป็นคนอะเนาะรู เคยเรียนที่ปอเนาะ Bendang Daya ปัตตานี และจากโต๊ะครูที่มีชื่อเสียงอีกหลายๆคน ต่อมาปีค.ศ. 1875 ก็อพยพไปเปิดปอเนาะที่ Sungai Dua ปีนัง แต่ก็เดินทางไปๆมาๆระหว่างปาตานีกับปีนังอยู่เสมอ มีลูกหลานและลูกศิษย์ลูกหาที่ไปมาหาสู่ระหว่างปาตานี มาเลเซียและคาบสมุทรอาหรับ ก่อนที่รัฐชาติและการแบ่งเขตพรมแดนประเทศจะมาปิดกั้นเครือข่ายนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวสยามเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหัวเมืองประเทศราช รวมถึงปาตานี ก่อนที่จะมีสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษแบ่งหัวเมืองมลายู
ต่วนมินาล มีลูกสาว 2 คน โดยคนที่ชื่อ ฟาติเมาะห์ แต่งงานกับฮัจยีอับดุรรอชีด ผู้ก่อตั้งปอเนาะบานา มีลูกสาวสองคน คนหนึ่งชื่อคอดิเญาะห์ ได้แต่งงานกับฮัจยีอับดุลอาซิซ บิน สะนิก ผู้ก่อตั้งปอเนาะอาซิซสถาน และเป็นแม่ของฮัจยีอับดุลวาฮับ บาบอโรงเรียนอาซิซสถานปัจจุบัน ตำราที่ Tuan Minal เขียนไว้หลายเล่ม ที่เป็นที่รู้จักและใช้สอนทั่วไปตามปอเนาะต่างๆในปาตานีและประเทศมาเลเซีย เช่น كشف اللثام عن اسئلة الأنام และ عقيدة الناجين في علم اصول الدين
ข้อมูลจาก Ulama Besar dari Fathani เขียนโดย Ahmad Fathi Al-fathani , UKM, Malaysia 2001 หน้า 67-78

รูปภาพต้นตระกูล

รูปบน โต๊ะครูอับดุลรอชีดและนางฟาตีเมะห์ บินติ ต่วนมินาล 

รูปล่าง แถวแรก จากซ้าย 1. อับดุลอาซิซ บิน ซะนีก 2. แวยูโซฟ บิน มุสตอฟา แวมูซอ 3. มุสตอฟา แวมูซอ
แถวที่สอง จากซ้าย คอดีเญาะห์(ภรรยาของอับดุลอาซิซ) ปะจูมะ และซีตีฮาวา(ภรรยาของมุสตอฟา แวมูซา) ทั้งสามเป็นลูกของอับดุลรอชีดกับฟาตีเมาะห์

โต๊ะครูอับดุลอาซิซอพยพมาตั้งรกรากและก่อตั้งปอเนาะอาซิซสถานขึ้นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ห่างจากสถานีรถไฟนาประดู่ประมาณ 1 กิโลเมตร ตามที่มีการบันทึกนั้น สถานีรถไฟนาประดู่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 และปรากฏมีชุมชนชาวพุทธ/จีนอยู่ที่ตลาดนาประดู่ก่อนแล้ว ปอเนาะอาซิซสถานมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบปอเนาะดั้งเดิม คือสอนกิตาบบนบาลัย(หรือบาลาเซาะห์) โดยชาวบ้านมาสร้างที่อยู่อาศัยเป็นเรือนปอเนาะรายรอบบาลัย ต่อมาจดทะเบียนปอเนาะอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2494 ดำเนินการสอนศาสนา ก่อนจะกลายเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามในปี พ.ศ. 2514 ในช่วงที่เป็นปอเนาะปรากฏว่ามีนักเรียนจากภาคใต้ตอนบน กรุงเทพและจากรัฐเนอเกอรี เซมบิลันมาเรียนอยู่ นอกจากปอเนาะอาซิซสถานแล้ว ท่านยังได้บุกเบิกหมู่บ้านและก่อตั้งปอเนาะอีกแห่งในพื้นที่บ้านลูโบ๊ะปันยัง อำเภอกาบัง จ.ยะลา ปัจจุบันยังปรากฏอาคารบาลาเสาะห์เหลืออยู่ และเรียกบริเวณหมู่บ้านดังกล่าวว่าปอเนาะ

ท่านโต๊ะครูอับดุลอาซิซ ยังได้ริเริ่มรวบรวมเงินจากชาวบ้านในหมู่ที่ ๒ และหมู่ที่ ๖ ตำบลนาประดู่เพื่อรวมกับเงินของจังหวัดปัตตานีบางส่วนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีมอบให้ เพื่อซื้อที่ดินจำนวน ๓ ไร่ ๑ งาน ๙๗ ตารางวา และร่วมกับชาวบ้านปลูกสร้างอาคารเรียนก่อตั้งเป็นโรงเรียนบ้านนาประดู่เมื่อปี พ.ศ.2498 (เปิดการสอนเมื่อวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2500) เนื่องจากก่อนหน้านั้นชาวบ้านต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนวัดนาประดู่ ซึ่งอยู่ไกลออกไป ทำให้ลำบากในการเดินทาง ทางราชการได้ย้ายนายหน่อ ราชรักษา ครูใหญ่โรงเรียนวัดนาประดู่มาเป็นครูใหญ่ ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2500 ได้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านนาประดู่ (พิบูลราษฎรอุปถัมภ์)” ในตอนแรกโรงเรียนได้เปิดสอนตามหลักสูตรพิเศษ คือ สอนภาษาไทย และภาษามลายู ต่อมาได้ยกเลิกการสอนภาษามลายู

ท่านโต๊ะครูอับดุลอาซิซ ได้เขียนหนังสือศาสนาที่ถูกจัดพิมพ์จำหน่ายไว้เล่มหนึ่งชื่อ فڠوتن باڬي كانق ٢- แต่รู้จักกันในนามของหนังสือ صفة دوا فوله เป็นหนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหลักศรัทธาและฟิกฮฺ เคยถูกใช้สอนมัสยิดต่างและวงฮะละเกาะห์ตามปอเนาะต่างๆในปาตานี

ท่านโต๊ะครูอับดุลอาซิซ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ต่อจากหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ตั้งแต่ พ.ศ. 2497-2517

อาคารเรียนโรงเรียนบ้านนาประดู่ ที่ท่านโต๊ะครูและชาวบ้านร่วมกันก่อสร้าง ยังใช้เพื่อการเรียนการสอนมาจนถึงปัจจุบัน

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมโรงเรียน โดยมีท่านโต๊ะครูอับดุลอาซิซ ฮัจยีแวอุมา หะยีอาแว และครูใหญ่คนแรกคืออับดุลเลาะห์ ซอและห์ ให้การต้อนรับ

 

โต๊ะครูอับดุลอาซิซ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ต้อนรับจอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และ รมต.กระทรวงมหาดไทย ในโอกาสเดินทางมาดูสถานที่เพื่อการก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

เข้าสู่ระบบ