อัลฮัมดุลิลลาฮ ทางจังหวัดอนุญาตให้เปิดเรียนออนไซต์ได้ทั้งนักเรียนหอพักและไป-กลับ(แบบมีเงื่อนไข)เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (10/1/65)
ภาคเรียนที่ ๑ ที่ผ่านมา หลังพยายามวางระบบและแก้ปัญหาที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ ประเด็นสำคัญที่ค้นพบก็คือ แม้ระบบการเรียนออนไลน์จะมีประสิทธิภาพแค่ใหน แต่ก็มีนักเรียนที่ประสบปัญหาจากการเรียนในระบบนี้ ทั้งการเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต/ห้องเรียนออนไลน์ อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม ปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ขาดแรงจูงใจและการแนะนำเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ตั้งธงได้เลยว่านักเรียนกลุ่มนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการซ่อมเสริม มิฉะนั้นเขาจะตามคนอื่นไม่ทันหรือหลุดไปจากระบบการศึกษาไปเลย ถ้าจะเปิดเรียนออนไซต์ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกๆที่จะต้องได้รับโอกาสนั้น

ตอนนั้นได้ลองคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดในภาคเรียนที่ 2 ที่แน่ๆคือสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียน 2,500 คน มันจะต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านระยะหนึ่งที่ต้องสอนทั้งแบบออนไลน์-ออนไซต์ผสมผสานๆกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนไปออนไซต์ทั้งหมดทันทีทันใด เพราะมีเรื่องของมาตรการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงเป็นระยะๆ เลยตัดสินใจติดตั้งสมาร์ททีวีและเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครบทุกห้องเรียน ตั้งเป้าว่าครูผู้สอนทุกคนต้องสามารถใช้อุปกรณ์อย่าง IPAD หรือ Tablet เชื่อมต่อกับสมาร์ททีวีและสอนแบบผสมผสานทั้งกับกลุ่มนักเรียนที่นั่งเรียนในห้องและเรียนออนไลน์พร้อมๆกัน พูดอาจจะง่าย แต่เอาเข้าจริงๆไม่ง่ายเลยที่จะเปลี่ยนครูทุกคนให้สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ ถ้าเป็นยุคก่อนโควิด สำหรับครูที่ไม่มีทักษะ IT เคยสอนแต่รูปแบบเดิมๆ การที่จะให้ถือเครื่อง Notebook สอนจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง กว่าจะเปิดเครื่อง เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แชร์หน้าจอไอแพดกับสมาร์ททีวี ก็หมดเวลาคาบหนึ่งพอดี ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้แอพต่างๆที่อยู่ในห้องเรียนออนไลน์
โรงเรียนใช้เวลาช่วงปิดเทอมของเดือนตุลาคมจัดอบรมครู ปรากฏว่าตรงกับช่วงที่รัฐบาลเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนให้นักเรียน งานใหญ่ๆซ้อนเข้ามาทีเดียวพร้อมกัน ก็เห็นว่าคุณครูหลายท่านเริ่มเครียด บางเรื่องจึงต้องชะลอไว้ก่อน หากปล่อยให้เครียดเกินไป จะกลายเป็นการเพิกเฉยหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่ที่ประทับใจคือได้เห็นศักยภาพของครูหลายท่านที่พร้อมจะเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้แก่เพื่อครูด้วยกัน ยามวิกฤติอย่างนี้แหละที่จะได้เห็นคนที่มีความสามารถเผยศักยภาพของตัวเองออกมา
การระบาดของโควิดที่ยังรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดเมื่อตอนเปิดเทอม 2 เลยวางแผนคร่าวๆว่าจะแบ่งการเรียนเทอม 2 เป็นสองส่วนคือเดือน พย.-ธค. เรียนออนไลน์ มค.- กพ. เรียนออนไซต์ ทาง สบค.จังหวัดประกาศขั้นตอนการขอเปิดเรียนออนไซต์ว่าครูต้องฉีดวัคซีนครบโดส 100% นร. 85% และชุมชน 70% ถึงจะยื่นขอกับทางอำเภอได้ กรณีครูไม่เป็นปัญหา ทุกคนร่วมมือกันดี ส่วนนักเรียน ใช้วิธีการเปิดเผยรายชื่อนักเรียนที่ยังไม่ฉีดในไลน์ห้องเรียน เพื่อที่เพื่อนนักเรียนจะได้ช่วยกันบอกต่อ (สร้างอุปทานหมู่) มีทีมของอุสตาซอะมีนุลเลาะห์คอยเก็บตก โทรไปสอบถามผู้ปกครอง โดนด่าต่อว่ากลับมาก็หลายคน ด้วยวธีการนี้ อัลฮัมดุลลาฮ ถึงตอนยื่นขอ มีนักเรียน 90% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนครู นักเรียนและผู้ปกครอง...... Jazakumullah Ahsanal Jaza
ในขณะที่นราธิวาสและยะลาอนุมัติให้โรงเรียนเปิดออนไซต์กันได้บ้างแล้ว ปัตตานียังไปไม่ถึงใหน เหตุผลก็คือเป็นจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในประเทศ นโยบายจังหวัดตั้งเป้าว่ากลางเดือนมกราคม 65 จะให้ได้ 70% ทำให้การอนุญาตเปิดเรียนออนไซต์แทบจะชะงัก ปลายเดือนธันวาคมเพิ่งประกาศอนุญาต รร.ชุดแรก 6 โรง ทั้งหมดเป็นแบบหอพัก โรงเรียนไป-กลับไม่ได้รับอนุญาตแม้แต่โรงเดียว เหตุผลง่ายๆคือชุมชนหรือพื้นที่บริการที่นักเรียนอยู่ยังได้รับวัคซีนไม่ถึง 70% จะให้ถึงได้อย่างไรในเมื่อทั้งจังหวัดฉีดได้แค่ 55%
ตอนนั้นค่อนข้างเครียดทีเดียว โรงเรียนอยู่ในชุดที่สองที่จังหวัดจะพิจารณา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนเกือบจากทั่วทั้งหวัด ยังมีที่ข้ามจากสงขลาและยะลาเข้ามาอีก ถ้าตามเงื่อนไข สบค.จังหวัดตอนนั้น กรณีนักเรียนหอพักน่าจะผ่าน แต่กรณีไป-กลับไม่ผ่านแน่นอน หากเป็นเช่นนั่น จะต้องกลับไปทำแผนเพื่อขอเสนอใหม่ ดูขั้นตอนแล้วอาจจะเสียเวลาอีกเป็นเดือน ปิดเทอมกันพอดี
ช่วงต้นปีก่อนเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาของจังหวัดไม่กี่วัน ประชุมทีมงานเพื่อปรับแผน พูดง่ายๆคือหาทางออกจนสุดท้ายได้ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ในระยะแรกขอเปิดเฉพาะ นร.ไป-กลับในอำเภอโคกโพธิ์ (อำเภอเดียวที่ฉีดวัคซีนเกิน 70%) นักเรียนจากอำเภออื่นๆ ให้เรียนออนไลน์ไปจนกว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดเสียก่อน นักเรียนไป-กลับต่างอำเภอหรือจังหวัดที่มีปัญหาการเรียนหรือเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ ก็สามารถใช้ช่องทางเข้าอยู่หอพักเพื่อเรียนออนไซต์ได้ ต้องขอบคุณทีมงานศึกษาธิการจังหวัดที่หาช่องทางให้ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 3 โรง มีโอกาสเข้าไปดีเฟนด์กับทาง สบค.จังหวัดด้วยตนเอง จนได้รับการพิจารณาให้เปิด เป็นโรงเรียนไป-กลับชุดแรกที่ได้รับอนุมัติให้เปิดเรียนออนไซต์ และเมื่อรู้ว่าทิศทางการอนุมัติจะเป็นอย่างนี้ หลายๆโรงในอำเภอโคกโพธิ์ก็เริ่มขยับเพื่อขออนุญาตเปิดเรียนตามกัน

ตอนนี้ ทางโรงเรียนได้ประกาศให้นักเรียนหอพักรายงานตัวเข้าหอ มีการเตรียมการเพื่อเฝ้าระวังโควิดอย่างเคร่งครัด นักเรียนต้องผ่านการตรวจด้วยชุด ATK ก่อนเข้าหอ และจะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังเข้าหอพักเพื่อเฝ้าระวังได้ 1 สัปดาห์ ฯลฯ รวมถึงซักซ้อมกรณีพบมีการติดเชื้อว่าจะจัดการอย่างไร ไม่ให้ลุกลามเป็นการระบาดในวงกว้าง ก่อนที่จะเริ่มอนุญาตให้นักเรียนไป-กลับในอำเภอโคกโพธิ์มาโรงเรียนในลำดับต่อไป
การเตรียมการ 3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องสอนออนไซต์เพิ่ม เรียกสั้นๆว่าสอนแบบ Hybrid ในส่วนของนักเรียนที่ได้เรียนออนไซต์ก็ให้มุ่งเน้นการสอนซ่อมเสริมเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดไปจากการเรียนออนไลน์ในเทอม ๑ ที่ผ่านมา ตั้งเป้าไว้เต็มที่อย่างนี้สำหรับเวลาที่เหลืออีก 1 เดือนครึ่งของเทอมนี้ และคาดหวังว่าทาง สบค.จังหวัดจะพิจารณาเปิดพื้นที่อำเภออื่นๆ หลังประเมินเป้าการฉีดวัคซีนกลางเดือนมกราคมนี้ แม้วัคซีนจะไม่ถึงเป้า แต่ตัวเลขการระบาดของโควิดที่ลดลงอย่างมาก ก็คงเป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่ทางจังหวัดใช้พิจารณา
.............นำมาบอกกล่าวเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนผู้บริหารโรงเรียนอื่นๆที่กำลังยื่นขอเปิดออนไซต์
.............ขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือ พยายามเต็มที่แล้ว ขอมอบหมายต่อพระองค์และคุ้มครองบุคลากรครูและนักเรียนทุกคนด้วย