สะท้อนปัญหาของนักเรียนในการเรียนออนไลน์

เป็นผู้บริหารโรงเรียนระดับมัธยมแห่งหนึ่ง ไม่ใช่โรงเรียนในตัวจังหวัด แต่ตั้งอยู่ในชนบท กลางหุบเขา โรงเรียนชายแดน(รอยต่อจังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลา) น่าจะสะท้อนภาพของโรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้บ้าง
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด จนเปิดเรียน On-Site ไม่ได้ ก็พยายามแบ่งกลุ่มนักเรียนจากการเข้าถึงการเรียนออนไลน์เพื่อสะดวกในการจัดการเป็น A B C
ยังไงบ้าง ?
 
A เป็นกลุ่มนักเรียนที่เข้าถึงการเรียนออนไลน์ มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และสภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ สามารถเข้าเรียนตามตารางเรียนออนไลน์ได้ รวมถึงสามารถเข้าสอบวัดผลออนไลน์ตามตารางที่โรงเรียนกำหนดได้
นับแต่เรียนออนไลน์มา ปรับตารางสอนมาแล้วสามครั้ง โดยประเมินจากความพร้อมของทั้งครูผู้สอนและนักเรียน ปรับครั้งล่าสุด ลดเวลาเรียนไป 4 ชั่วโมง 40 นาที อันนี้นักเรียน ม.๑ เขานับให้ ไม่คิดว่านักเรียนจะซีเรียสเรื่องเวลาเรียนขนาดนี้
 
B เป็นกลุ่มนักเรียนที่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ แต่ไม่พร้อมจะเข้าเรียนตามตารางเรียนออนไลน์ อาจจะเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว ทำให้ต้องแบ่งปันอุปกรณ์ที่ใช้เรียนออนไลน์กับพี่น้อง ต้องทำงานช่วยเหลือผู้ปกครองในช่วงเวลาเรียน หรือแม้แต่มีปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ ฯลฯ
สำหรับกลุ่มนี้ คือการพัฒนาระบบการบันทึกวิดิโอการสอนให้กลุ่มนี้เข้ามีโอกาสเข้าไปเรียนในเวลาที่ว่างหรือพร้อม โรงเรียนมีระบบ Google Workspace for Education Fundamentals ใช้เฉพาะเป็นขององค์กรอยู่หลายปีแล้ว เมื่อเกิดวิกฤติโควิด จึงอัพเกรดไม่กี่สิบ user ให้เป็น Teaching and Learning Upgrade ก็เพียงพอที่จะบันทึกการสอนของครูได้ทุกครั้ง จัดระบบให้บุคลากรครูได้จัดเก็บคลิปการสอนอย่างเป็นระบบ รวมถึงเปิดโอกาสให้คุณครูที่จัดการ/ตัดต่อวิดิโอได้เองให้ได้แนะนำช่วยเหลือเพื่อนครูด้วยกัน ฝ่ายบริหารสามารถนำคลิปสอนเหล่านี้มาใช้นิเทศเพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนของครูเป็นรายบุคคลได้ และนักเรียนทั้งกลุ่ม A และ B ก็สามารถเข้าไปทบทวนคลิปการสอนได้เป็นระยะๆ
 
C คือกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้เลย เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสและเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด โรงเรียนทำได้อย่างมากที่สุดก็คือให้เรียนโดยใช้ใบงาน แต่ก็อย่างที่รู้ๆกัน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้แทบจะไม่มีเลย ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่พร้อมที่จะช่วยสอนลูก แทบจะไม่มีเวลาอยู่กับลูกด้วยซ้ำ
กลุ่มนี้ต่างหากที่ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสังคมทั่วไป จะต้องทุ่มเท หามาตรการรวมถึงทุ่มงบประมาณ เพื่อให้พวกเขาสามารถถีบตัวเองอย่างน้อยก็เป็นกลุ่ม B ได้
.
ข้อสังเกตคือ ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มในระบบอยู่เสมอ ผู้ปกครองหลายท่านดิ้นรนจนสามารถหาซื้อโทรศัพท์ให้ลูกเรียนจนได้ เคสล่าสุดที่ครูที่ปรึกษาคีย์เข้าระบบ คือเปลี่ยนจาก A เป็น B เพราะโทรศัพท์ของลูกเสีย ขอเวลาซักระยะจนกว่าจะหาเงินซื้อเครื่องใหม่ให้ เห็นแบบนี้แล้วเอ็นดู มีโทรศัพท์เครื่องเก่าอยู่ก็อยากให้ไปใช้ก่อน จนกว่าจะซื้อใหม่ได้
 
ที่เล่ามาคือประเด็นของการจัดการผู้เรียน ยังมีเรื่องของบุคลากรครู(เจอโควิดสาหัสจริงๆ) เทคนิคการสอนออนไลน์และอุปกรณ์สื่อการสอนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ฯลฯ ยังต้องทำอะไรอีกมาก และต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้/แชร์ประสบการณ์จากเพื่อนผู้บริหารอย่างยิ่ง
 
ไม่เห็นด้วยหากจะหยุดเรียน ๑ ปีการศึกษาตามที่นักวิชาการท่านหนึ่งนำเสนอ เหมือนปิดแบบยอมแพ้ มันมีวิธีแก้ที่ดีกว่า เช่นขยายเวลาของภาคเรียนที่ ๒ หรือเพิ่มภาคเรียนที่ ๓ (หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น) เพื่อซ่อมเสริมในส่วนที่ต้องเสียโอกาสไป ทุ่มเททรัพยากรให้ตรงจุดกับกลุ่มนักเรียนที่มีอยู่หลากหลาย แทนที่จะเทกระจาดแจกไปทั่ว บางคนจำเป็นมาก แต่หลายคนก็พร้อมอยู่แล้ว
Read 33396 times Last modified on วันจันทร์, 27 กันยายน 2564 16:17
Login to post comments